วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คำประสม

คำประสม

          คำประสม คือ คำที่มีคำ 2 คำหรือมากกว่านั้นมาประสมกันเข้าเป็นคำใหม่อีกคำหนึ่ง เจตนาในการสร้างคำประสมก็เป็นเช่นเดียวกับคำซ้อน คือเพื่อให้มีคำใหม่ใช้ในภาษา

ลักษณะคำประสม
          คำประสมที่สร้างมีลักษณะต่างๆ ตามการใช้ แยกได้เป็น ที่ใช้เป็นคำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์
คำประสมที่ใช้เป็นคำนาม ส่วนมากคำตัวตั้งเป็นคำนาม ที่เป็นคำอื่นก็มีบ้าง  คำประสมประเภทนี้ใช้เป็นชื่อสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายจำกัดจำเพาะ พอเอ่ยชื่อขึ้นย่อมเป็นที่รับรู้ว่าเป็นชื่อของอะไรหากคำนั้นเป็นที่ยอมรับใช้กันทั่วไปแล้ว
         
1. คำตัวตั้งเป็นนาม คำขยายเป็นวิเศษณ์ ได้แก่
          มด+แดง คือ มดชนิดหนึ่งตัวสีแดง ไม่ใช่มดตัวสีแดงทั่วๆ ไป อาจเติมต่อเป็น มด+แดง+ไฟ ก็ได้ เป็นการบอกประเภทย่อยของ มดแดง ลงไปอีกทีหนึ่ง
          รถ+เร็ว คือรถไฟที่เร็วกว่าธรรมดาเพราะไม่ได้หยุดแวะทุกสถานี
          น้ำ+แข็ง คือ น้ำชนิดหนึ่งที่แข็งเป็นก้อนด้วยความเย็นจัดตามธรรมชาติ หรือทำขึ้น
ที่เราใช้อยู่ทุกวันหมายถึงน้ำที่แข็งเป็นก้อนด้วยกรรมวิธีอย่างหนึ่ง

2. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นกริยา บางทีมีกรรมมารับด้วย ได้แก่
          ผ้า+ไหว้ คือ ผ้าสำหรับไหว้ที่ฝ่ายชายนำไปให้แก่ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เพื่อแสดงความเคารพในเวลาแต่งงาน
          ไม้+เท้า คือ ไม้สำหรับเท้าเพื่อยันตัว
          โต๊ะ+กิน+ข้าว คือ โต๊ะสำหรับกินข้าว

3. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นคำนามด้วยกัน ได้แก่
          เรือน+ต้น+ไม้ คือ เรือนที่ไว้ต้นไม้ไม่ให้โดนแดดมาก
          เก้าอี้+ดนตรี คือ การเล่นชิงเก้าอี้มีดนตรีประกอบเป็นสัญญาณ
          คน+ไข้ คือ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย อยู่ในความดูแลของแพทย์พยาบาล
          แกง+ไก่ คือ แกงเผ็ดที่ใส่ไก่ ไม่ใช่แกงที่ใส่ไก่ทั่วๆ ไป

4. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นบุพบท ได้แก่
          คน+กลาง คือ คนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด คนที่ติดต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
          คน+ใน คือ คนในครอบครัว ในวงการ คนสนิท
          เครื่อง+ใน คือ อวัยวะภายในของสัตว์ ซึ่งมักใช้เป็นอาหาร ได้แก่ ตับ ไต ไส้ ของหมู วัว ควาย เป็นต้น
          ฝ่าย+ใน คือ หญิงที่สังกัดอยู่ในพระราชฐานชั้นใน เป็นเจ้านายและ ข้าราชการ 
          ความ+ใน คือ เรื่องส่วนตัวซึ่งรู้กันในระหว่างคนสนิทกัน 2-3 คน
          คน+นอก คือ คนนอกครอบครัว นอกวงการ
          ของ+นอก คือ ของไม่แท้ มักใช้หมายถึงทองวิทยาศาสตร์ที่เรียกทองนอก
          เมือง+นอก คือ ต่างกระเทศ มักหมายถึงยุโรป อเมริกา
          ฝ่าย+หน้า คือ เจ้านายและข้าราชการที่ไม่ใช่ฝ่ายใน
          ความ+หลัง คือ เรื่องที่ผ่านมาแล้วของแต่ละคน
          เบี้ย+ล่าง คือ อยู่ใต้อำนาจ
          เบี้ย+บน คือ มีอำนาจเหนือ

5. คำตัวตั้งที่ไม่ใช่คำนาม และคำขยายก็ไม่จำกัดอาจเป็นเพราะพูดไม่เต็มความ คำนามที่เป็นคำตัวตั้งจึงหายไป กลายเป็นคำกริยาบ้าง คำวิเศษณ์บ้าง เป็นตัวตั้ง ได้แก่
          ต้ม+ยำ ต้ม+ส้ม ต้ม+ข่า เป็นชื่อแกงแต่ละอย่าง มีลักษณะต่างๆ กัน เดิม น่าจะ
มีคำ แกง อยู่ด้วย เพราะขณะนี้ยังมีอีกมาก ที่พูดแกงต้มยำ แกงต้มส้ม แกง(ไก่)ต้มข่า
          เรียง+เบอร์ คือ ใบตรวจเลขสลากกินแบ่งของรัฐบาลที่มีเบอร์เรียงๆกันไป เดิมคงจะมีคำ ใบ อยู่ด้วย
          พิมพ์+ดีด คือ เครื่องพิมพ์ดีด คำ เครื่อง หายไป แต่ที่ยังใช้เครื่อง ด้วยก็มี
          สาม+ล้อ คือ รถสามล้อ คำ รถจะหายไปในภายหลังเช่นเดียวกัน
         

ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับคำประสม

คำที่ไม่เกิดความหมายใหม่ จัดเป็น วลี หรือกลุ่มคำ เช่น
ลูกหมาตัวนี้ถูกแม่ทิ้ง เป็นวลี เพราะไม่เกิดความหมายใหม่
เจ้าหน้าที่กำลังฉีดยากำจัดลูกน้ำ เป็นคำประสม เพราะไม่ได้หมายถึงลูกของน้ำ

คำประสมกับคำซ้อน
ลักษณะที่เหมือนกัน
          1. ต่างเป็นคำที่นำคำเดี่ยวอันมีใช้อยู่เดิมมารวมกันเข้าสร้างเป็นคำใหม่ขึ้น
          2. เมื่อเกิดเป็นคำใหม่แล้ว ความจะต่างจากเดิมไป ที่เหมือนเดิมก็ต้องมีความหนักเบาของความหมายต่างกัน บางทีก็มีความหมายไปในเชิงอุปมา
          3. คำที่ประสมกันก็ดี ซ้อนกันก็ดี ถ้าแยกออกเป็นคำๆ แล้วแต่ละคำมีความหมายสมบูรณ์ มีที่ใช้ในภาษา ทั้งนี้ผิดกับคำที่ลงอุปสรรคที่จะกล่าวต่อไป อุปสรรค์นั้นไม่มีความหมายและที่ใช้ในภาษา

ลักษณะที่ต่างกัน
          1. คำประสม มี 2 คำหรือมากกว่านั้น  คำซ้อน มีคำเพียง 2 คำ ถ้าจะมีมากกว่านั้นก็ต้องเป็น 4 คำหรือ 6 คำ
          2. คำประสม มีความหมายสำคัญที่คำตัวตั้ง ส่วนคำขยายมีความสำคัญรองลงไป คำซ้อน ถือคำแต่ละคำที่มาซ้อนกัน มีความสำคัญเสมอกันเพราะต่างก็มีความหมายคล้ายกัน
          3. คำประสม มีความหมายต่างจากเดิมไปบ้าง ถ้าคงเดิมก็มักเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อสิ่งต่างๆ คำซ้อน มีความหมายต่างจากเดิมไปบ้าง ถ้าคงเดิม ความเน้นหนักและที่ใช้ก็ต้องต่างไป แต่ถึงอย่างไร ความความใหม่ต้องเนื่องกับความหมายเดิม
          4. คำประสม บางคำอาจสับหน้าสับหลังกันได้ แต่ถ้าเรียงสับที่กันความหมายก็จะต่างไป
เช่น เสือปลา กับ ปลาเสือและหน้าที่ของคำก็จะต่างไปด้วย เช่น ใจดี กับ ดีใจ  คำซ้อน อาจสับหน้าสับหลังได้เฉพาะบางคำที่เสียงไปได้ไม่ขัดหูออกเสียงได้สะดวก และบางคำสับที่แล้วความหมายต่างไป แต่ที่ไม่ต่างกันก็มี เช่น อัดแอ กับแออัด

ข้อสังเกตคำประสมกับคำเดี่ยว

          คำประสมบางคำมีลักษณะเหมือนคำเดี่ยวๆ (ที่เคยเรียกกันว่าคำมูล)
มาเรียงกันเข้า ทำให้พิจารณายากว่า คำใดเป็นคำประสมคำใดไม่ใช่ มีหลักพิจารณาได้ดังนี้
          1. เสียงหนักเบา เรื่องเสียงนี้ไม่อาจรู้ได้จากตัวเขียนแต่เวลาพูดอาจสังเกตได้โดยเสียงหนักเบาบอกให้รู้ ดังกล่าวแล้วในเรื่องเสียงวรรณยุกต์ คือ ถ้าเป็นคำประสมน้ำหนักเสียงจะลงที่คำ
ท้ายเป็นส่วนมาก ส่วนที่ไม่ได้ลงเสียงหนัก เสียงจะสั้นเบา บางทีอาจจะฟังไม่ชัด เหมือนหายไปเลยทั้งพยางค์ แต่ถ้าไม่ใช่คำประสมน้ำหนักเสียงจะเสมอกันและมีจังหวะเว้นระหว่างคำ (บางทีจะมีเสียงเหมือน น่ะ ม่ะ หรือ อ้ะ ท้ายคำที่มาข้างหน้า แต่เวลาเขียนกำหนดไม่ได้)ทั้งนี้เพราะคำที่เรียงกันมาแต่ละคำมีความสำคัญถ้าพูดไม่ชัดเจนทุกคำไปแล้ว ความหมายย่อมไม่แจ่มแจ้ง แต่คำประสมกับไม่เข้าใจความหมายเสียทีเดียว

          2. ความหมาย คำประสมจะมีความหมายจำกัด จำเพาะว่าหมายถึงอะไร และหมายพิเศษอย่างไร เช่น รถเร็ว ไม่ใช่รถที่วิ่งเร็วทั่วๆ ไป เมื่อพูดย่อมเป็นที่เข้าใจกัน แต่คำบางคำไปมีความหมายอย่างอื่น ไม่ตรงตามคำเดี่ยวที่นำมาประสมกันเข้า เช่น สามเกลอสามขา หมายถึง เครื่องใช้เพื่อตอกเสาเข็มด้วยแรงคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น