วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รสวรรณคดี

รสวรรณคดี

          รสในความหมายทางการประพันธ์ หมายถึง อารมณ์สัมผัส รับรู้ด้วยใจ เมื่ออ่านหรือฟังคำประพันธ์ใดแล้ว เกิดความรู้สึกอย่างไร

รสในวรรณคดีไทยมี ๔ ชนิด ได้แก่

๑. เสาวรจนี (บทชมโฉม อารมณ์ชื่นชม) คือ การกล่าวชมความงามของตัวละครในเรื่อง
                   เหลือบเห็นกวางขำดำขลับ          งามสรรพสะพรั่งดั่งเลขา
          งามเขาเป็นกิ่งกาญจนา                       งามตานิลรัตน์รูจี
          คอก่งเป็นวงราววาด                          รูปสะอาดราวนางสำอางค์ศรี
          เหลียวหน้ามาดูภูมี                            งามดังนารีชำเลืองอาย
          ยามวิ่งวิ่งเร็วดังลมส่ง                          ตัดตรงทุ่งพลันผันผาย
          ปิ่นกษัตริย์เร่งรัดพรรณราย                   กระทั่งถึงชายไพรวัน


๒. นารีปราโมทย์ (บทเกี้ยว โอ้โลม) คือการกล่าวแสดงความรัก การเกี้ยวพาราสีกัน
                   ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร           ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
          แม้นเกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร                      ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
          แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ                พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
          แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา                     เชยผกาโกสุมปทุมทอง
          เจ้าเป็นถ้าอำไพขอให้พี่                        เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
          จะติดตามทรามสงวนนวลละออง             เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

๓. พิโรธวาทัง (บทตัดพ้อ) คือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์ไม่พอใจ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่อง
ใหญ่ ตั้งแต่ ไม่พอใจ โกรธ ตัดพ้อ ประชดประชัน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เสียดสี และด่าว่าอย่าง
รุนแรง
                   จะเจ็บจำไปถึงปรโลก                ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
          จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย                        อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ

๔. สัลลาปังคพิไสย (บทโศก) คือคือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์โศกเศร้า อาลัยรัก ที่เกิดจากความทุกข์อันเนื่องมาจากความไม่สมหวัง ความผิดหวัง ความสูญเสีย ตลอดจนเรื่องของการพลัดพราก
                   เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ      ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
          สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา                       วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์


รสแบบวรรณคดีสันสกฤตมี 9 รส

๑. ศฤงคารรส (รสแห่งความรัก : บาลี เรียกรสนี้ว่า รติรส) เป็นการพรรณนาความรักระหว่างหนุ่มสาว
ระหว่างสามีภรรยา ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย บิดามารดากับบุตร ญาติกับญาติ ฯลฯ สามารถทำให้ผู้อ่าน
พอใจรัก เห็นคุณค่าของความรัก นึกอยากรักกับเขาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรักฉันชู้สาว รักหมู่คณะ รัก
ประเทศชาติ เป็นต้น อย่างเช่น เรื่องลิลิตพระลอ ซึ่งเต็มไปด้วยรสรัก

๒. หาสยรส (รสแห่งความขบขัน : บาลีเรียกรสนี้ว่า หาสะรส) เป็นการพรรณนาที่ทำให้เกิดความร่าเริง
สดชื่น เสนาะ ขบขัน อาจทำให้ผู้อ่าน ผู้ดูยิ้มกับหนังสือ ยิ้มกับภาพที่เห็น ถึงกับลืมทุกข์ดับกลุ้มไปชั่วขณะ
เช่น เรื่องระเด่นลันได เป็นต้น  
๓. กรุณารส (รสแห่งความเมตตากรุณาที่เกิดภายหลังความเศร้าโศก : บาลีเรียกรสนี้ว่า โสกะรส)) เป็นบท
พรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกหดหู่ เหี่ยวแห้ง เกิดความเห็นใจ ถึงกับน้ำตาไหล พลอยเป็นทุกข์ เอาใจช่วยตัว
ละคร เช่น เห็นใจนางสีดา เห็นใจจรกา และเห็นใจนางวันทอง เป็นต้น

๔. รุทรรส/เราทรรส (รสแห่งความโกรธเคือง : บาลีเรียกรสนี้ว่า โกธะ) บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้ผู้ดูผู้อ่านขัดใจ ฉุนเฉียว ขัดเคืองบุคคลบางคนในเรื่อง บางทีถึงกับขว้างหนังสือทิ้ง หรือฉีกตอนนั้นก็มี เช่น
โกรธขุนช้าง โกรธชูชก

๕. วีรรส (รสแห่งความกล้าหาญ : บาลีเรียกรสนี้ว่า อุตสาหะรส) บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่าน ผู้ดู ผู้ฟังพอใจผลงานและหน้าที่ ไม่ดูหมิ่นงาน อยากเป็นใหญ่ อยากร่ำรวย อยากมีชื่อเสียง เช่น อยาก
เก่งกาจแบบสมเด็จพระนเรศวร ชอบความมีขัตติมานะของพระมหาอุปราชา จากเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย

๖. ภยานกรส (รสแห่งความกลัว ตื่นเต้นตกใจ : บาลีเรียกรสนี้ว่า อุตสาหะรส) เป็นบทบรรยายหรือ
พรรณนาที่ทำให้ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ดู มองเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยในบาปกรรมทุจริต เกิดความสะดุ้งกลัว
โรคภัย สัตว์ร้าย ภูตผีปีศาจ บางครั้งต้องหยุดอ่าน รู้สึกขนลุกซู่เมื่ออ่านเรื่อง ผีต่างๆ

๗. พีภัตสรส (รสแห่งความชัง ความรังเกียจ : บาลีเรียกรสนี้ว่า ชิคุจฉะรส) เป็นบทบรรยายหรือพรรณนา
ที่ท าให้ผู้อ่าน ผู้ดู ผู้ฟังชังน้ำหน้าตัวละครบ้างตัว เพราะจิต(ของตัวละคร) บ้าง เพราะความโหดร้ายของ
ตัวละครบ้าง เช่น เกลียดนางผีเสื้อสมุทร ในเรื่องพระอภัยมณีที่ฆ่าพ่อเงือก เป็นต้น

๘. อัทภูตรส (รสแห่งความพิศวงประหลาดใจ : รสนี้ บาลีเรียก วิมหะยะรส) เป็นบทบรรยายหรือพรรณนา
ที่ทำให้นึกแปลกใจ เอะใจอย่างหนัก ตื่นเต้นนึกไม่ถึงว่าเป็นไปได้เช่นนั้น หรือ อัศจรรย์คาดไม่ถึงใน
ความสามารถ ในความคมคายของคารม ในอุบายหรือในศิลปวิทยาคุณ แปลกใจในสุปฏิบัติ (ความ
ประพฤติที่ดีงาม)แห่งขันติ เมตตา กตัญญู อันยากยิ่งที่คนธรรมดาจะทำได้

๙. ศานติรส(รสแห่งความสงบ : บาลีเรียกรสนี้ว่า สมะรส) เป็นช่วงการแสดงอุดมคติของเรื่อง เช่น ความ
สงบสุขในแดนสุขาวดี ในเรื่อง วาสิฏฐี หรือ รู้สึกสมใจ อิ่มเอมใจ เมื่อกษัตริย์ทั้งหกกลับมาพร้อมหน้ากัน
ในเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดก อันเป็นผลมุ่งหมายทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นผลให้ผู้อ่าน ผู้ดู ผู้ฟัง
เกิดความสุขสงบในขณะได้เห็นได้ฟังตอนนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น