วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564

โครงสร้างพยางค์

โครงสร้างพยางค์

โครงสร้างพยางค์ คืออะไรวะ ???
หัวข้อโดนใจใช่มั้ยล่ะ ...
ข้อใดมีโครงสร้างพยางค์เหมือนคำนี้… เจอที มึนตึ้บ
การเอาชนะโจทย์ข้อที่ถามเกี่ยวกับ โครงสร้างพยางค์ ให้พิจารณาให้ครบ 4 Check
ถ้าตกหล่นแม้แต่คุณสมบัติเดียว ก็ถือว่าไม่มีโครงสร้างที่เหมือนกันทันที

Check 1
ดู พยัญชนะต้น ว่าเป็น
        - เดี่ยว                   เช่น         พ่อ แม่ ลูก พี่ ป้า น้า อา
        - คู่ = ควบกล้ำ      เช่น         แขวน ความ กราบ คลาน ปรุง

Q : แต่ถ้าเป็น อักษรควบไม่แท้ (เช่น จริง ทราย ไซร้) หรืออักษรนำ แบบ ห นำ / อ นำ ย จะจัดเป็นอะไร?

A : ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพราะหนังสือหลายเล่มยังเถียงกันอยู่ว่าจะให้พวกนี้เป็นพวก เดี่ยว หรือ คู่ แต่ไม่ต้องห่วง เวลาออกข้อสอบจริงๆ เขาจะเลี่ยงการเอาคำพวกนี้มาออก ไม่ก็สร้างจุดผิดจาก Check อื่นๆ

Check 2
หา เสียงพยัญชนะท้าย ว่าเป็น พยางค์ปิด หรือ เปิด

พยางค์ปิด     = คำทุกตัวที่มี เสียงตัวสะกด (เช่น มัก จับ หนาว ทำ(ทัม) ใส(สัย) เรา(เราว)
 
**หรือ คำ ลหุ ที่ตั้งอยู่ตรงพยางค์สุดท้ายเท่านั้น เช่น ธรรมะ ซัมมะ

พยางค์เปิด     = คำที่ไม่มีเสียงตัวสะกดเลยอะไรเลย หรือถ้าอยู่ตำแหน่งสุดท้าย ก็ต้องเป็นสระเสียงยาวเช่น มายา อารยา

**เวลาเจอในข้อสอบจริงๆ แนะนำให้เขียนพยางค์ close / open จะได้ไม่มึน

เทียบให้เห็นชัด ๆ
กระทะ       = กระ เป็นคำที่ใช้สระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด ไม่ใช่พยางค์สุดท้าย จึงเป็น พยางค์เปิด

                    ทะ เป็นคำที่ใช้สระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด แต่เพราะเป็นพยางค์สุดท้าย จึงเป็น พยางค์ปิด

อารยา         = อา เป็นสระเสียงยาว ไม่มีตัวสะกด เป็น พยางค์เปิด
                    ร เป็นคำที่ใช้สระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด และไม่ใช่พยางค์สุดท้าย จึงเป็น พยางค์เปิด
                    ยา ถึงจะเป็นพยางค์ท้ายสุด แต่เพราะเป็นสระเสียงยาว ที่ไม่มีตัวสะกด จึงเป็น พยางค์เปิด

Check 3
ฟังเสียงสระ ว่าเป็น เสียงสั้น หรือ เสียงยาว
โดยให้พิจารณาตามการออกเสียงจริง ๆ อย่างเช่น น้ำใจ กับ แม่น้ำ
ถึงจะเป็นคำว่า น้ำ เหมือนกัน แต่ออกเสียงว่า น้ำใจ = นั้ม-ใจ (เสียงสั้น) / แม่น้ำ = แม่-น้าม (เสียงยาว)

Check 4
เสียงวรรณยุกต์ตรงกัน
ย้ำว่า เสียง
จะรูปอะไรก็ไม่สน อย่างเช่น
        วะ กับ จ๊ะ          = เสียงตรีเหมือนกัน
        อาจ กับ ผ่าน     = เสียงเอกเหมือนกัน

***ทุกขั้นตอน ต้องเทียบกันพยางค์ต่อพยางค์ สมมุติ พยางค์แรกของทั้งสองคำเหมือนกันทั้ง 4 check แต่พยางค์ที่สองของทั้งสองคำ ตกไปแม้แต่ check เดียว ก็ตัดสิทธิ์ทันที



ตัวอย่าง
ธรรมดา กับ ชนนี : มีโครงสร้างพยางค์เหมือนกัน เพราะว่า…..

Check 1 :         ทั้งสามพยางค์ของทั้งสองคำ เป็นพยัญชนะต้นเดี่ยว (ไม่มีคำไหนมีเสียงควบกล้ำเลย) เหมือนกัน

Check 2 :        คู่พยางค์ที่ 1 : ธรรม - ชน >>> (ถึงจะตัวหนึ่งจะเป็น แม่กม ตัวหนึ่งจะเป็น แม่กน) แต่ก็เป็นพยางค์ปิดเหมือนกัน
                        คู่พยางค์ที่ 2 : (มะ) - (นะ) >>> พยางค์เปิด (ไม่มีตัวสะกดอะไรเลย) เหมือนกัน
                        คู่พยางค์ที่ 3 : ดา - นี >>> พยางค์เปิด (ไม่มีตัวสะกดอะไรเลย) เหมือนกัน

Check 3 :        คู่พยางค์ที่ 1 : ธรรม - ชน >>> ใช้สระ อะ กับ โอะ = เป็นสระเสียงสั้นทั้งคู่
                        คู่พยางค์ที่ 2 : (มะ) - (นะ) >>> ใช้สระ อะ = เป็นสระเสียงสั้นทั้งคู่
                        คู่พยางค์ที่ 3 : ดา - นี >>> ใช้สระ อา กับ อี = เป็นสระเสียงยาวทั้งคู่

Check 4 :        คู่พยางค์ที่ 1 : ธรรม - ชน >>> เสียงวรรณยุกต์ สามัญ เหมือนกัน
                        คู่พยางค์ที่ 2 : (มะ) - (นะ) >>> เสียงวรรณยุกต์ ตรี เหมือนกัน
                        คู่พยางค์ที่ 3 : ดา - นี >>> เสียงวรรณยุกต์ สามัญ เหมือนกัน

***ผ่านทุกคุณสมบัติ คู่นี้ มีโครงสร้างพยางค์แบบเดียวกัน



ตัวอย่าง
รุมสกรัม กับ วานปรัสถ์ : มีโครงสร้างพยางค์ไม่เหมือนกัน เพราะว่า…..

Check 1 :      พยางค์ที่ 1(รุม-วาน) เป็นพยัญชนะต้นเดี่ยวเหมือนกัน
                      พยางค์ที่ 2 (สะ-นะ) เป็นพยัญชนะต้นเดี่ยวเหมือนกัน
                      พยางค์ที่3 (กรัม-ปรัสถ์) เป็นพยัญชนะต้นคู่(ควบกล้ำ) เหมือนกัน


Check 2 :     คู่พยางค์ที่ 1 : (รุม-วาน) >>> (ถึงจะตัวหนึ่งจะเป็น แม่กม ตัวหนึ่งจะเป็น แม่กน) แต่ก็เป็นพยางค์ปิดเหมือนกัน
                     คู่พยางค์ที่ 2 : (สะ-นะ) >>> พยางค์เปิด (ไม่มีตัวสะกดอะไรเลย) เหมือนกัน
                     คู่พยางค์ที่ 3 : (กรัม-ปรัสถ์) >>> พยางค์ปิดเหมือนกัน

Check 3 :     พยางค์แรก ของ คำที่ 1 : รุม >>> ใช้สระอุ และออกเสียง อุ จริงๆ จึงเป็นเสียงสั้น
                     พยางค์แรก ของ คำที่ 2 : วาน >>> ใช้สระอา และออกเสียง อา จริงๆ จึงเป็นเสียงยาว

***เสียงสระสั้นยาวไม่ตรงกันในพยางค์แรก = ตกรอบทันที