วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ภาษาพูด – ภาษาเขียน

ภาษาพูด ภาษาเขียน

          ภาษาพูด ภาษาเขียน เป็นคำที่ใช้เรียกระดับภาษา มิได้มีความหมายตรงตามตัวอักษรว่า ภาษาที่ใช้สำหรับพูด และภาษาที่ใช้สำหรับเขียน ภาษาพูด หมายถึง ภาษาระดับลำลองหรือภาษาที่ไม่เป็นทางการ ส่วนภาษาเขียน หมายถึง ภาษาระดับแบบแผนหรือภาษาระดับทางการ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนสามารถใช้สื่อสารด้วยวิธีพูดหรือโดยใช้วิธีเขียนก็ได้กล่าวคือ  เราอาจพูดเป็นภาษาเขียน หรือเขียนเป็นภาษาพูดก็ได้
         
          ระดับภาษา หมายถึง ความลดหลั่นของถ้อยคำ และการเรียบเรียงถ้อยคำที่ใช้ตามโอกาส
กาลเทศะ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสาร โดยแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ดังนี้
          ๑. ภาษาระดับทางการ เป็นภาษาที่ใช้ในที่ประชุมที่มีแบบแผน เช่น การบรรยาย
การอภิปรายอย่างเป็นทางการหรือใช้ในการเขียนข้อความที่จะใช้ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นการ
เป็นงาน เช่น ตำราวิชาการ หนังสือที่ใช้ติดต่อกันทางราชการหรือในวงการธุรกิจผู้รับสารและผู้ส่งสาร
มักเป็นบุคคลในวงการเดียวกันหรือวงอาชีพเดียวกันติดต่อกันในด้านธุรกิจการงาน เช่น บอกหรือ
รายงานให้ทราบ ให้ความรู้เพิ่มเติม เสนอความคิดเห็น ฯลฯ ลักษณะของสารเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้
ความคิดที่สำคัญอันเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ถ้อยคำที่ใช้ผล
ตามจุดประสงค์โดยประหยัดทั้งถ้อยคำและเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวอย่างเช่น
       คำกล่าวในพิธีเปิดการอบรมลูกเสือ
       "คณะผู้กำกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และพี่น้องลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ทั้งหลาย  ข้าพเจ้ายินดี
ที่ได้ทราบว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริง เสียสละเวลา และความสุขส่วนตัวมาร่วมอบรม
หลักสูตรวิชาพิเศษในครั้งนี้  วิชาพิเศษของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่มีให้เลือกศึกษามากมาย ทุกวิชา
ถ้าได้เรียนรู้และผ่านการอบรมมาอย่างสมบูรณ์แล้ว จะสามารถช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือ
ผู้อื่นให้รอดพ้นจากอันตรายต่างๆ ได้ ฉะนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฝึกอบรม เพื่อประโยชน์
แก่ตนเองและผู้อื่น สมดังปณิธานของการลูกเสือ  ข้าพเจ้าขออำนวยพรให้ทุกท่านจงปฏิบัติ
ภารกิจให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์  และประสบความสุขตลอดเวลาที่อยู่ค่ายทุกประการ"
          ๒. ภาษาระดับกึ่งทางการ เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารโดยมุ่งให้เกิดความเข้าใจกันด้วยความ
รวดเร็วลดความเป็นทางการลงบ้างเพื่อให้เกิดความใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร มักใช้
ในการประชุมกลุ่ม การอภิปรายกลุ่ม การบรรยายในห้องเรียน การพูดทางวิทยุและโทรทัศน์ ข่าว และ
แนะนำบุคคล ฯลฯ ลักษณะของสารมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป ธุรกิจ การแสดงความคิดเห็น
เชิงวิชาการหรือการดำเนินชีวิต ฯลฯ มักใช้ศัพท์วิชาการเท่าที่จำเป็น และอาจมีถ้อยคำที่แสดง
ความคุ้นเคยปนอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่น
       "มานะ : สวัสดีครับคุณสุดา  ไม่ได้พบกันนานแล้ว สบายดีหรือครับ
        สุดา  : สวัสดีค่ะ คุณมานะ ดีใจจริงๆ ที่ได้พบคุณ ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ไหนล่ะคะ
        มานะ : ผมเพิ่งมารับงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ครับ
        สุดา  : อ้อ! คุณมานะคะ นี่คุณฤดี น้องใหม่ในสำนักงานเราค่ะ
                  คุณฤดีคะ  นี่คุณมานะ  ท่านเคยเป็นอดีตหัวหน้างานแผนกบุคคลของเราค่ะ
        ฤดี    : สวัสดีค่ะ
        มานะ : สวัสดีครับคุณฤดี  ยินดีที่ได้รู้จักครับ
          ๓. ภาษาระดับปาก เป็นภาษาที่ใช้ในการพูด มักใช้ในสถานที่ที่เป็นส่วนตัวกับบุคคลที่
สนิทสนมคุ้นเคย ไม่เคร่งครัดในระเบียบแบบแผนมากนัก แต่เป็นภาษาที่คนทั่วไปใช้สื่อสาร
กันในชีวิตประจำวัน  ถ้อยคำที่ใช่อาจมีคำคะนอง คำไม่สุภาพ หรือคำภาษาถิ่นปะปนอยู่  เช่น
ภาษาในหนังสือพิมพ์  ภาษาในนวนิยาย เรื่องสั้น การเขียนจดหมายส่วนตัว เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
       ภาษาปากในหนังสือพิมพ์
       "งานสัมมนาการพัฒนาคุณภาพบุคลากรของฝ่ายตุลาการ เมื่อวันที่ ๒๗  มีนาคมที่ผ่านมา
เห็นจะเป็นเพราะไม่มีค่าลงทะเบียนหรือยังไง ปรากฏว่าในห้องประชุมแอร์เสีย  ขณะที่ผู้เข้าร่วม
ประชุมสวมสูท  เหงื่อแตกพลั่กกันทุกคน...เฮ้อน่าเห็นใจนะ"
ตัวอย่างการใช้ภาษา
 "ยังไง มือถือก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการดำรงชีวิต" จะเห็นได้ว่าประโยคดังกล่าว เป็น การพูดสนทนาทั่วไปหรือ เป็นบทสนทนาที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนต่างๆ ซึ่งจัดเป็นสำนวนพูดหรือภาษาพูด
     หากแก้ไขให้เป็นภาษาเขียน ซึ่งเป็นการสื่อสารในระดับที่เป็นทางการ หรือกึ่งทางการ และ
เคร่งครัดในการใช้ภาษาที่ถูกต้อง ควรเรียบเรียงเป็นภาษาเขียนว่า "ถึงอย่างไร โทรศัพท์เคลื่อนที่
ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับการดำรงชีวิต"
    
ภาษาพูดและภาษาเขียนแตกต่างกันอย่างไรมีข้อสังเกตดังนี้
          ๑. ภาษาเขียนใช้ถ้อยคำตามแบบแผนที่กำหนด เช่น
                   ภาษาเขียน                                             ภาษาพูด             
          ส่งจดหมายทางไปรษณีย์                           ส่งจดหมาย                     
          สัปดาห์หน้า                                                อาทิตย์หน้า    
          ตักบาตร                                                      ใส่บาตร
          ฌาปนกิจศพ                                               เผาศพ
          มากมาย                                                      มาก
          รับประทาน                                                 กิน
          ๒. ภาษาเขียนอาจตัดถ้อยคำสำนวนที่อธิบายขยายความออกได้ เช่น
                   "ช่วยกันดูแลบ้านเรือนให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สกปรก รกรุงรัง"       
                   (ถ้าเป็นภาษาเขียนให้ตัดข้อความที่ขีดเส้นใต้ออก)
          ๓. ภาษาเขียนจะไม่ใช้คำลงท้ายที่แสดงความรู้สึก เช่น ซิ นะ ละ เถอะ ฯลฯ
หรือคำแสดงการเรียกขาน หรือคำขานรับ เช่น คะ ขา จ๋า ครับ ฯลฯ
          ๔. คำบางคำในภาษาเขียน เช่น คำที่มีความหมายเป็นคำถาม และคำสรรพนามบางคำยังคง
สะกดตามที่เคยใช้กันมา ไม่สะกดตามการออกเสียงในปัจจุบัน  เช่น
                       ภาษาเขียน                                ภาษาพูด             
          หรือ                                                     รึ, เหรอ, เรอะ
          อย่างนี้                                                ยังงี้, งี้
          เท่าไร                                                 เท่าไหร่
          เขา                                                     เค้า
          อย่างไร                                              ยังไง, ไง
          เมื่อไร                                                เมื่อไหร่
          ไหม                                                  มั๊ย, มะ
          ฉัน                                                    ชั้น
          ผม                                                   พ้ม
          ดิฉัน                                                 ดิชั้น, ดั๊น, เดี๊ยน
          อย่างนั้น                                           ยังงั้น, งั้น
          สัก                                                   ซัก, ซะ
          หนึ่ง                                                นึง
คำเหล่านี้เป็นคำที่ต้องอ่านหรืออกเสียงอย่างภาษาพูด  แต่ในกรณีการเขียนต้องเขียนตามรูปเขียนที่กำหนดไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
          ๕. คำในภาษาเขียนจะไม่ใช้คำย่อ ตัดคำ เช่น
                       ภาษาเขียน                                ภาษาพูด             
          มหาวิทยาลัย                                            มหาลัย. หมาลัย
          รับประทาน                                               กิน, หม่ำ, เจี๊ย, อ้ำ, สวาปาม, แดก
          โทรศัพท์                                                 โทรฯ
          กิโลเมตร, กิโลกรัม                                  กม., กก.
          ๖. มีการใช้ภาษาถิ่นในพูด เช่น คำว่า "กลับบ้าน" ภาษาถิ่นเหนือใช้คำว่า "ปิ๊กบ้าน"
ภาษาถิ่นอีสานให้คำว่า "เมือบ้าน"  ภาษาถิ่นใต้ใช้คำว่า "หลบเริน" เป็นต้น
          ๗. มีการใช้ประโยคที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การละประธาน กริยา กรรม หรือคำบุพบทไว้ใน
ฐานที่เข้าใจ เช่น
               สมศรี : (พี่)ซื้ออะไรมาบ้างคะ พี่ซื้อ(ของ)ได้ครบหรือยัง ละสรรพนามและกรรม
       โดยปกตินักเรียนใช้ภาษาในการสื่อสาร มิใช่เพียงเพื่อให้รู้เรื่องกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร
เท่านั้น แต่ยังต้องใช้ให้ได้ผลดีด้วย นั่นก็คือต้องใช้ภาษาโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับกาลเทศะ บุคคล

รวมทั้งคำนึงถึงลักษณะของเนื้อหา และสื่อที่จะใช้ด้วย โดยเราใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดระดับของภาษาที่จะใช้ จึงได้มีการแบ่งระดับของภาษาตามสัมพันธภาพของบุคคล โอกาส สถานที่และประชุมชน

คำซ้อน

คำซ้อน

          คำซ้อน (บางทีเรียก คำคู่) คือ คำที่มีคำเดี่ยว 2 คำ อันมีความหมายหรือเสียงคล้ายกันใกล้เคียงกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน ซ้อนเข้าคู่กัน เมื่อซ้อนแล้วจะมีความหมายใหม่เกิดขึ้น หรือ
มีความหมายและที่ใช้ต่างออกไปบ้าง คำซ้อนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. คำซ้อนเพื่อความหมาย           2. คำซ้อนเพื่อเสียง
          เจตนาในการซ้อนคำก็เพื่อให้ได้คำใหม่ มีความหมายใหม่ ถ้าซ้อนเพื่อความหมาย 
ก็มุ่งที่ความหมายเป็นสำคัญ ถ้าซ้อนเพื่อเสียง ก็มุ่งที่เสียงเป็นสำคัญ
          
          1. คำซ้อนเพื่อความหมาย
วิธีสร้างคำซ้อนเพื่อความหมาย
          1.1 นำคำเดี่ยวที่มีความหมายสมบูรณ์ มีที่ใช้ในภาษามาซ้อนเข้าคู่กันคำหนึ่งเป็นคำต้น อีกคำหนึ่งเป็นคำท้าย คำต้นกับคำท้ายมีความหมายคล้ายกัน ใกล้เคียงกัน หรือไปในทำนองเดียวกัน อาจเป็น คำไทยด้วยกันหรือคำต่างประเทศด้วยกันหรือเป็นคำไทยกับคำต่างประเทศซ้อนกันเข้ากันก็ได้
         1.2 ซ้อนกันแล้วต้องเกิดความหมายใหม่ ซึ่งอาจไม่เปลี่ยนไปจากความหมายเดิมมากนัก หรืออาจเปลี่ยนไปเป็นอันมาก แต่ถึงจะเปลี่ยนความหมายหรือไม่เปลี่ยนอย่างไรก็ตาม ความหมายใหม่ย่อมเกี่ยวเนื่องกับความหมายเดิม พอเห็นเค้าความหมายได้

ลักษณะคำซ้อนเพื่อความหมายที่เป็นคำไทยซ้อนกับคำภาษาอื่น

          ส่วนมากเป็นคำภาษาบาลีสันสกฤตและเขมร เพื่อประโยชน์ในการแปลความหมายด้วย
ในการสร้างคำใหม่ดังกล่าวแล้ว คำที่มาซ้อนกันจึงต้องมีความหมายคล้ายกัน เมื่อซ้อนแล้วความหมายมักไม่เปลี่ยนไป คำซ้อนลักษณะนี้มีดังนี้
          คำไทยกับคำบาลีสันสกฤต ได้แก่ ซากศพ (ศพ จาก ศว สันสกฤต) รูปร่าง โศกเศร้า 
ยวดยาน ทรัพย์สิน (ทรัพย์ จาก ทฺรวฺย สันสกฤต) ถิ่นฐาน จิตใจ ทุกข์ยาก
          คำไทยกับคำเขมร ได้แก่ แสวงหา เงียบสงัด เงียบสงบ ถนนหนทาง สะอาดหมดจด
ยกเลิก เด็ดขาด
          คำภาษาอื่นซ้อนกันเอง
คำบาลีกับสันสกฤตซ้อนกันเอง ได้แก่
          อิทธิฤทธิ์ (อิทฺธิ บ. + ฤทฺธิ ส.)
          รูปพรรณ (รูป บ.ส. + พรรณ จาก วรฺณ ส.)
          รูปภาพ (รูป + ภาพ บ.ส.)
          ยานพาหนะ (ยาน + วาหน บ.ส.)
          ทรัพย์สมบัติ (ทฺรวฺย ส. + สมฺปตฺติ บ.ส.)
          คำเขมรกับบาลีสันสกฤต ได้แก่ สุขสงบ สรงสนาน เสบียงอาหาร
          คำเขมรกับเขมร ได้แก่ สะอาดสอาง สนุกสบาย เลิศเลอ สงบเสงี่ยม

          2. คำซ้อนเพื่อเสียง
          ด้วยเหตุที่คำซ้อนเพื่อเสียง มุ่งที่เสียงยิ่งหว่าความหมาย คำที่เข้ามาซ้อนกันจึงอาจจะไม่มีความหมายเลย เช่น โล กับ เล หรือมีความหมายเพียงคำใดคำเดียว เช่น มอมกับแมม มอม มีความหมาย
แต่ แมม ไม่มีความหมาย บางทีแต่ละคำมีความหมาย แต่ความหมายไม่เนื่องกับความหมายใหม่เลย เช่น งอแง งอ หมายว่า คด โค้ง แต่ แง หมายถึงเสียงร้องของเด็ก ส่วนงอแง หมายว่า ไม่สู้ เอาใจยาก วิธีการสร้างคำซ้อนเพื่อเสียง จึงต่างกับคำซ้อนเพื่อความหมายดังนี้

วิธีสร้างคำซ้อนเพื่อเสียง
          1. นำคำที่เสียงมีที่เกิดระดับเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันซ้อนกันเข้า
          2. ซ้อนกันแล้ว จะเกิดความหมายใหม่ ซึ่งโดยมากไม่เกี่ยวเนื่องกับความหมายของคำเดี่ยวแต่ละคำ
          
ประโยชน์ของคำซ้อนเพื่อเสียง
          1. ทำให้ได้คำใหม่ที่สร้างได้ง่ายกว่าคำซ้อนเพื่อความหมาย
          2. ได้คำที่มีเสียงกระทบกระทั่งกัน เหมาะที่จะใช้ในการพรรณาลักษณะให้ได้ใกล้เคียงความจริง ทำให้เห็นจริงเห็นจังยิ่งขึ้น
          3. ได้คำที่มีทั้งเสียงและความหมายใหม่ โดยอาศัยคำเดิมที่มีอยู่แล้ว
ข้อควรสังเกต
          1. คำซ้อนในภาษาไทยส่วนใหญ่มีเสียงสัมผัสกัน เช่น ซาบซึ้ง ปีนป่าย เฮฮา
          2. คำที่มี 2 พยางค์ อาจซ้อนกันกลายเป็นคำซ้อน 4 พยางค์ เช่น เฉลี่ยวฉลาด ตะเกียกตะกาย


คำซ้ำ

คำซ้ำ

          คำซ้ำคือคำคำเดียวกัน นำมากล่าว 2 ครั้ง มีความหมายเน้นหนักหรือบางทีต่างกันไป
หรือคำที่เพิ่มขึ้นโดยออกเสียงให้ต่อเนื่องกันกับคำเดี่ยวเพียงคำเดียว จึงถือว่าเป็นคำสร้างใหม่ มีความหมายใหม่ทำนองเดียวกับคำซ้อน ต่างกันก็แต่เพียงคำซ้ำใช้คำคำเดียวกันซ้อนกันเท่านั้น และเพื่อให้รู้ว่าคำที่กล่าว 2 ครั้งนั้นเป็นคำซ้ำ ไม่ใช่คำเดี่ยวๆ เรียงกัน จึงต้องคิดเครื่องหมายกำกับไว้ ในภาษาไทยใช้ไม้ยมกแทนคำท้ายที่ซ้ำกับคำต้น (ยมก แปลว่าคู่ ไม้ยมกจึงใช้สำหรับคำซ้ำที่มาเป็นคู่ๆ กันเท่านั้นหาใช่มีไว้แทนคำอื่นๆ ที่มีเสียงเดียวกันทุกคำไป) หากไม่ใช้ไม้ยมกจะทำให้สังเกตยากว่า คำใดเป็นคำเดี่ยว คำใดเป็นคำซ้ำ เช่น ชาวนาใส่เสื้อดำดำดำนา  หรือพูดพูดไปอย่างนั้นเอง (พูด ไม่ใช่คำซ้ำ)

ลักษณะของคำซ้ำ
          1. คำซ้ำที่ซ้ำคำนาม แสดงพหูพจน์ บอกว่านามนั้นมีจำนวนมากกว่าหนึ่ง
ได้แก่ เด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ เช่น เห็นเด็กๆ เล่นอยู่ในสนาม มีแต่หนุ่มๆ สาวๆ เดินไปเดินมา
          2. คำซ้ำที่ซ้ำคำขยายนาม แสดงพหูพจน์ก็มีเน้นลักษณะก็มี
เช่น ฉันให้เสื้อดีๆ เขาไป เสื้อตัวนี้ยังดีๆ อยู่ มีแต่ปลาเป็นๆ
          บางทีเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ที่คำต้นด้วยเมื่อต้องการเน้นลักษณะคำขยายนั้นๆ ดังกล่าวแล้วในเรื่องวรรณยุกต์ ส่วนมากเสียงจะเปลี่ยนเป็นเสียงตรี ดังนี้  ดี๊ดี เก๊าเก่า บ๊าบ้า ร๊ายร้าย ซ้วยสวย
          3. คำซ้ำที่ซ้ำคำขยายนามหรือสรรพนาม แสดงความไม่เจาะจงหากพูดคำเดี่ยวคำเดียวย่อมเป็นการยืนยันเจาะจงแน่นอนลงไปเช่น มะม่วงเล็ก แสดงว่า เล็ก แต่ถ้าหากใช้คำซ้ำว่า ลูกเล็กๆ แสดงว่าอาจจะไม่เล็ก
ทั้งหมด มีเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ส่วนมากเห็นแต่ลูกเล็กๆ คำอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน ดังนี้
          ซ้ำคำขยาย ได้แก่ แดงๆ เช่น เสื้อสีแดงๆ แสดงว่าไม่แดงทีเดียว แต่มีลักษณะไปทางแดง
พอจะเรียกว่า แดง ได้ หรือกลมๆ เช่น ผลไม้ลูกกลมๆ อาจจะไม่กลมดิก แต่ค่อนไปทางกลม
อย่างไข่เป็นต้นก็ได้
          ซ้ำคำนาม ได้แก่ ผู้ใหญ่ๆ เด็กๆ เช่น พวกเด็กๆ นั่งคนละทางกับพวกผู้ใหญ่ๆซึ่งไม่แน่ว่าเป็นพวกเด็กทั้งหมด หรือผู้ใหญ่ทั้งหมดแต่ส่วนมากเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ หรือดูเป็นเด็กดูเป็นผู้ใหญ่
          ซ้ำคำสรรพนาม ได้แก่ เราๆ ท่านๆ เขาๆ เราๆหมายถึง คนสองฝ่ายแต่ไม่ได้ระบุแน่ว่าเป็นฝ่ายใด ฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายตรงกันข้าม  ที่เป็นคำซ้ำซ้อนกัน 2 คู่ ลักษณะเช่นนี้ก็มี เช่น สวยๆ งามๆ
ผิดๆ ถูกๆ ความหมายเจาะจงน้อยกว่า สวยงาม ผิดถูก
          4. คำซ้ำที่ซ้ำคำนามหรือคำบอกจำนวนนับจะแยกความหมายออกเป็นส่วนๆ เมื่อมีคำ เป็น มาข้างหน้า ถ้าใช้คำเดี่ยวก็เป็นเพียงจำนวนครั้งเดียว แต่ถ้าใช้คำซ้ำ นอกจากจะว่าจำนวนนั้นมีมากกว่าหนึ่งแล้ว ยังแยกออกไปเป็นทีละหนึ่งๆ อีกด้วย เช่นชั่งเป็นกิโลๆ (ชั่งทีละกิโล และมีมากกว่ากิโลหนึ่ง)
ตรวจเป็นบ้านๆ ไป (ตรวจทีละบ้าน แต่มีหลายบ้าน) 
ซื้อเป็นร้อยๆ (ซื้อหลายร้อย แต่ชั่งหรือนับกันทีละร้อย)
แตกเป็นเสี่ยงๆ (แตกออกหลายชิ้น แต่ละชิ้นกระจัดกระจายกันไป)
น่าสังเกตว่า ทำเป็นวันๆ กับ ทำไปวันหนึ่งๆ มีความหมายต่างกันคือ ทำเป็นวันๆ หมายความว่า ทำวันหนึ่งก็ได้ค่าจ้างทีหนึ่ง ทีละวันๆ ไป ส่วน ทำไปวันๆ คือ ทำงานให้พ้นๆ ทีละวันๆ ไป
          5. คำซ้ำที่ซ้ำบุรพบท หรือคำขยาย ใช้ขยายกริยาบอกความเน้น เมื่อเป็นคำสั่งที่ซ้ำคำบุพบท ได้แก่ เขียนกลางๆ นั่งในๆ เย็บตรงริมๆหยิบบนๆ วางใต้ๆ ที่ซ้ำคำขยาย ได้แก่ เขียนดีๆ พูดดังๆ เดินเร็วๆ วิ่งช้าๆ
          6. คำซ้ำที่ซ้ำจากคำซ้อน 2 คู่ ใช้เป็นคำขยายบอกความเน้นเช่น ออดๆ แอดๆ แสดงว่าป่วยไข้เสมอยิ่งกว่า ออดแอด ง่อกๆ แง่กๆ  ดูจะไม่มั่งคงยิ่งกว่า ง่อกแง่ก

ข้อควรสังเกต
          1.คำที่มีเสียงซ้ำกันบางครั้งไม่ใช่คำซ้ำ ได้แก่ เขาพูดกันไปต่าง ๆ นานาฉันเห็นเขาจะจะเลย ทั้ง 2 คำนี้เป็นคำมูลสองพยางค์ จะไม่ใช้ไม้ยมก
          2. คำที่มีความหมายและหน้าที่ในประโยคต่างกันไม่ใช่คำซ้ำ เช่น
          เมย์กำลังใช้แปรงแปรงผ้าที่กำลังซัก
          แปรง คำแรกเป็นคำนาม
          แปรงคำที่สอง เป็นคำกริยา


คำประสม

คำประสม

          คำประสม คือ คำที่มีคำ 2 คำหรือมากกว่านั้นมาประสมกันเข้าเป็นคำใหม่อีกคำหนึ่ง เจตนาในการสร้างคำประสมก็เป็นเช่นเดียวกับคำซ้อน คือเพื่อให้มีคำใหม่ใช้ในภาษา

ลักษณะคำประสม
          คำประสมที่สร้างมีลักษณะต่างๆ ตามการใช้ แยกได้เป็น ที่ใช้เป็นคำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์
คำประสมที่ใช้เป็นคำนาม ส่วนมากคำตัวตั้งเป็นคำนาม ที่เป็นคำอื่นก็มีบ้าง  คำประสมประเภทนี้ใช้เป็นชื่อสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายจำกัดจำเพาะ พอเอ่ยชื่อขึ้นย่อมเป็นที่รับรู้ว่าเป็นชื่อของอะไรหากคำนั้นเป็นที่ยอมรับใช้กันทั่วไปแล้ว
         
1. คำตัวตั้งเป็นนาม คำขยายเป็นวิเศษณ์ ได้แก่
          มด+แดง คือ มดชนิดหนึ่งตัวสีแดง ไม่ใช่มดตัวสีแดงทั่วๆ ไป อาจเติมต่อเป็น มด+แดง+ไฟ ก็ได้ เป็นการบอกประเภทย่อยของ มดแดง ลงไปอีกทีหนึ่ง
          รถ+เร็ว คือรถไฟที่เร็วกว่าธรรมดาเพราะไม่ได้หยุดแวะทุกสถานี
          น้ำ+แข็ง คือ น้ำชนิดหนึ่งที่แข็งเป็นก้อนด้วยความเย็นจัดตามธรรมชาติ หรือทำขึ้น
ที่เราใช้อยู่ทุกวันหมายถึงน้ำที่แข็งเป็นก้อนด้วยกรรมวิธีอย่างหนึ่ง

2. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นกริยา บางทีมีกรรมมารับด้วย ได้แก่
          ผ้า+ไหว้ คือ ผ้าสำหรับไหว้ที่ฝ่ายชายนำไปให้แก่ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เพื่อแสดงความเคารพในเวลาแต่งงาน
          ไม้+เท้า คือ ไม้สำหรับเท้าเพื่อยันตัว
          โต๊ะ+กิน+ข้าว คือ โต๊ะสำหรับกินข้าว

3. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นคำนามด้วยกัน ได้แก่
          เรือน+ต้น+ไม้ คือ เรือนที่ไว้ต้นไม้ไม่ให้โดนแดดมาก
          เก้าอี้+ดนตรี คือ การเล่นชิงเก้าอี้มีดนตรีประกอบเป็นสัญญาณ
          คน+ไข้ คือ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย อยู่ในความดูแลของแพทย์พยาบาล
          แกง+ไก่ คือ แกงเผ็ดที่ใส่ไก่ ไม่ใช่แกงที่ใส่ไก่ทั่วๆ ไป

4. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นบุพบท ได้แก่
          คน+กลาง คือ คนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด คนที่ติดต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
          คน+ใน คือ คนในครอบครัว ในวงการ คนสนิท
          เครื่อง+ใน คือ อวัยวะภายในของสัตว์ ซึ่งมักใช้เป็นอาหาร ได้แก่ ตับ ไต ไส้ ของหมู วัว ควาย เป็นต้น
          ฝ่าย+ใน คือ หญิงที่สังกัดอยู่ในพระราชฐานชั้นใน เป็นเจ้านายและ ข้าราชการ 
          ความ+ใน คือ เรื่องส่วนตัวซึ่งรู้กันในระหว่างคนสนิทกัน 2-3 คน
          คน+นอก คือ คนนอกครอบครัว นอกวงการ
          ของ+นอก คือ ของไม่แท้ มักใช้หมายถึงทองวิทยาศาสตร์ที่เรียกทองนอก
          เมือง+นอก คือ ต่างกระเทศ มักหมายถึงยุโรป อเมริกา
          ฝ่าย+หน้า คือ เจ้านายและข้าราชการที่ไม่ใช่ฝ่ายใน
          ความ+หลัง คือ เรื่องที่ผ่านมาแล้วของแต่ละคน
          เบี้ย+ล่าง คือ อยู่ใต้อำนาจ
          เบี้ย+บน คือ มีอำนาจเหนือ

5. คำตัวตั้งที่ไม่ใช่คำนาม และคำขยายก็ไม่จำกัดอาจเป็นเพราะพูดไม่เต็มความ คำนามที่เป็นคำตัวตั้งจึงหายไป กลายเป็นคำกริยาบ้าง คำวิเศษณ์บ้าง เป็นตัวตั้ง ได้แก่
          ต้ม+ยำ ต้ม+ส้ม ต้ม+ข่า เป็นชื่อแกงแต่ละอย่าง มีลักษณะต่างๆ กัน เดิม น่าจะ
มีคำ แกง อยู่ด้วย เพราะขณะนี้ยังมีอีกมาก ที่พูดแกงต้มยำ แกงต้มส้ม แกง(ไก่)ต้มข่า
          เรียง+เบอร์ คือ ใบตรวจเลขสลากกินแบ่งของรัฐบาลที่มีเบอร์เรียงๆกันไป เดิมคงจะมีคำ ใบ อยู่ด้วย
          พิมพ์+ดีด คือ เครื่องพิมพ์ดีด คำ เครื่อง หายไป แต่ที่ยังใช้เครื่อง ด้วยก็มี
          สาม+ล้อ คือ รถสามล้อ คำ รถจะหายไปในภายหลังเช่นเดียวกัน
         

ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับคำประสม

คำที่ไม่เกิดความหมายใหม่ จัดเป็น วลี หรือกลุ่มคำ เช่น
ลูกหมาตัวนี้ถูกแม่ทิ้ง เป็นวลี เพราะไม่เกิดความหมายใหม่
เจ้าหน้าที่กำลังฉีดยากำจัดลูกน้ำ เป็นคำประสม เพราะไม่ได้หมายถึงลูกของน้ำ

คำประสมกับคำซ้อน
ลักษณะที่เหมือนกัน
          1. ต่างเป็นคำที่นำคำเดี่ยวอันมีใช้อยู่เดิมมารวมกันเข้าสร้างเป็นคำใหม่ขึ้น
          2. เมื่อเกิดเป็นคำใหม่แล้ว ความจะต่างจากเดิมไป ที่เหมือนเดิมก็ต้องมีความหนักเบาของความหมายต่างกัน บางทีก็มีความหมายไปในเชิงอุปมา
          3. คำที่ประสมกันก็ดี ซ้อนกันก็ดี ถ้าแยกออกเป็นคำๆ แล้วแต่ละคำมีความหมายสมบูรณ์ มีที่ใช้ในภาษา ทั้งนี้ผิดกับคำที่ลงอุปสรรคที่จะกล่าวต่อไป อุปสรรค์นั้นไม่มีความหมายและที่ใช้ในภาษา

ลักษณะที่ต่างกัน
          1. คำประสม มี 2 คำหรือมากกว่านั้น  คำซ้อน มีคำเพียง 2 คำ ถ้าจะมีมากกว่านั้นก็ต้องเป็น 4 คำหรือ 6 คำ
          2. คำประสม มีความหมายสำคัญที่คำตัวตั้ง ส่วนคำขยายมีความสำคัญรองลงไป คำซ้อน ถือคำแต่ละคำที่มาซ้อนกัน มีความสำคัญเสมอกันเพราะต่างก็มีความหมายคล้ายกัน
          3. คำประสม มีความหมายต่างจากเดิมไปบ้าง ถ้าคงเดิมก็มักเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อสิ่งต่างๆ คำซ้อน มีความหมายต่างจากเดิมไปบ้าง ถ้าคงเดิม ความเน้นหนักและที่ใช้ก็ต้องต่างไป แต่ถึงอย่างไร ความความใหม่ต้องเนื่องกับความหมายเดิม
          4. คำประสม บางคำอาจสับหน้าสับหลังกันได้ แต่ถ้าเรียงสับที่กันความหมายก็จะต่างไป
เช่น เสือปลา กับ ปลาเสือและหน้าที่ของคำก็จะต่างไปด้วย เช่น ใจดี กับ ดีใจ  คำซ้อน อาจสับหน้าสับหลังได้เฉพาะบางคำที่เสียงไปได้ไม่ขัดหูออกเสียงได้สะดวก และบางคำสับที่แล้วความหมายต่างไป แต่ที่ไม่ต่างกันก็มี เช่น อัดแอ กับแออัด

ข้อสังเกตคำประสมกับคำเดี่ยว

          คำประสมบางคำมีลักษณะเหมือนคำเดี่ยวๆ (ที่เคยเรียกกันว่าคำมูล)
มาเรียงกันเข้า ทำให้พิจารณายากว่า คำใดเป็นคำประสมคำใดไม่ใช่ มีหลักพิจารณาได้ดังนี้
          1. เสียงหนักเบา เรื่องเสียงนี้ไม่อาจรู้ได้จากตัวเขียนแต่เวลาพูดอาจสังเกตได้โดยเสียงหนักเบาบอกให้รู้ ดังกล่าวแล้วในเรื่องเสียงวรรณยุกต์ คือ ถ้าเป็นคำประสมน้ำหนักเสียงจะลงที่คำ
ท้ายเป็นส่วนมาก ส่วนที่ไม่ได้ลงเสียงหนัก เสียงจะสั้นเบา บางทีอาจจะฟังไม่ชัด เหมือนหายไปเลยทั้งพยางค์ แต่ถ้าไม่ใช่คำประสมน้ำหนักเสียงจะเสมอกันและมีจังหวะเว้นระหว่างคำ (บางทีจะมีเสียงเหมือน น่ะ ม่ะ หรือ อ้ะ ท้ายคำที่มาข้างหน้า แต่เวลาเขียนกำหนดไม่ได้)ทั้งนี้เพราะคำที่เรียงกันมาแต่ละคำมีความสำคัญถ้าพูดไม่ชัดเจนทุกคำไปแล้ว ความหมายย่อมไม่แจ่มแจ้ง แต่คำประสมกับไม่เข้าใจความหมายเสียทีเดียว

          2. ความหมาย คำประสมจะมีความหมายจำกัด จำเพาะว่าหมายถึงอะไร และหมายพิเศษอย่างไร เช่น รถเร็ว ไม่ใช่รถที่วิ่งเร็วทั่วๆ ไป เมื่อพูดย่อมเป็นที่เข้าใจกัน แต่คำบางคำไปมีความหมายอย่างอื่น ไม่ตรงตามคำเดี่ยวที่นำมาประสมกันเข้า เช่น สามเกลอสามขา หมายถึง เครื่องใช้เพื่อตอกเสาเข็มด้วยแรงคน